
02 Aug คิดสักนิดก่อนใช้เทปกาว
ตั้งแต่เทปกาวถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เทปกาวก็กลายเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ด้วยความที่ใช้ง่ายจึงถูกไปนำไปใช้งานหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ การซ่อมแซมเอกสารและหนังสือ ตลอดจนใช้ซ่อมแซมงานศิลปวัตถุ แต่จุดแข็งของเทปกาวที่คนทั่วไปชอบนั้น กลับกลายเป็นปัญหาหลักกวนใจนักอนุรักษ์ในเวลาต่อมา เพราะกาวบนเทปกาวนี้ไม่เป็นผลดีต่อวัตถุในระยะยาว
สารเคมีในเนื้อกาวบนเทปใสที่ทำหน้าที่ยึดประสานนี้ จะเกิดการเปลี่ยนสภาพตามกาลเวลา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัววัตถุ เพราะเมื่อเทปกาวเสื่อมสภาพลงตามอายุ ถึงระยะเวลาหนึ่งจะเกิดการเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลจากการทำปฏิกิริยากับอากาศ และจากฝุ่นที่กาวดึงดูดไว้ กลายเป็นคราบเหนียว แห้งและแข็งยึดเกาะติดแน่นกับวัตถุ หลายๆ ครั้งเทปหลุดออกไปแล้วแต่คราบกาวยังอยู่ ไม่สามารถเอาออกได้ด้วยการดึงออกตามปกติ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัตถุเสื่อมสภาพเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะวัตถุประเภทเส้นใยอย่างผ้าและกระดาษซึ่งสามารถดูดซับของเหลวได้ดี การที่จะเอากาวออกทำได้ยากมาก เพราะกาวจากเทปที่แทรกซึมลงไปบนวัตถุ ไม่ได้ยึดติดแค่ชั้นพื้นผิวแต่ยังซึมลึกลงไปถึงเส้นใยด้วย ผลกระทบของกาวบนเทปที่มีต่อเส้นใยนั้นซับซ้อนจนบางคนอาจนึกไม่ถึง นักอนุรักษ์จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงสารเคมีที่จะนำมาใช้ ถึงเรื่องความสามารถในการละลายคราบ ความสามารถในการระเหยของสารเคมีนั้นๆ ที่จะค่อยๆ ทำให้คราบกาวอ่อนตัวหรือบวมขึ้น ก่อนจะค่อยๆ แซะหรือคีบออกมาอย่างระมัดระวัง ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ละลายคราบกาวแล้วแทรกซึมเข้าไปในเนื้อวัตถุจนเกิดเป็นคราบที่ใหญ่และซึมลึกกว่าเดิม
กรณีที่จะยกมาเป็นตัวอย่างนี้ นักอนุรักษ์เพิ่งได้ทำการตรวจสภาพวัตถุซึ่งเป็นพัดผ้าไหมเนื้อบางแบบจีน (Silk Gauze) สองชิ้นประกบกัน ทั้งสองด้านตกแต่งด้วยการเขียนสีลงบนผ้าไหม จากการตรวจสภาพ พบว่ามีการเสื่อมสภาพจากอายุและการใช้งาน บริเวณที่เป็นผ้าไหมมีสภาพแห้งกรอบ มีรอยฉีกขาดของเส้นใยอยู่ทั่วไป และปัญหาสำคัญคือมีการใช้เทปกาวแบบใส ติดไว้บริเวณรอยแตกเพื่อประสานและยึดติดรอยขาดเข้าด้วยกัน
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งจากกรณีนี้คือ การเอากาวออกจะก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อชั้นสีและสารยึดที่อยู่ในสีที่ใช้เขียนภาพด้วย เพราะตัวทำละลายที่จะช่วยเอากาวออก ไม่ได้ทำละลายเฉพาะเนื้อกาวเท่านั้น แต่ยังเข้าไปทำละลายชั้นสีและสารยึดโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แถมคราบกาวบางชนิดยังเหนียวและแห้งมากจนตัวทำละลายทั่วไปไม่สามารถทำละลายได้ ต้องใช้ตัวทำละลายที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลกระทบมากขึ้นต่อชั้นสีและตัววัตถุด้วยเช่นกัน จึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
การนำเทปกาวมาใช้จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ถี่ถ้วน เพราะเทปกาวแทบทุกชนิดสร้างปัญหาทั้งที่มองเห็นได้และมองไม่เห็น บางครั้งความเสียหายเกิดขึ้นไม่มาก แต่หลายๆ ครั้งความเสียหายก็รุนแรงมากจนไม่สามารถย้อนคืนได้
เรื่องโดย: นางสาวปิยะมน กิ่งประทุมมาศ
นักอนุรักษ์ SAC Conservation Lab
หากคุณกำลังมองหาที่ปรึกษาเรื่องเก็บรักษางานสะสมของคุณ สามารถปรึกษาเราได้ที่ “SAC Conservation Lab”
บริการด้านการอนุรักษ์และซ่อมแซมศิลปะวัตถุโดยทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ ให้บริการทั้งทางด้านการปรึกษาแนวทางและบริการด้านการอนุรักษ์
สามารถดูรายละเอียดเพื่มเติมได้ ที่นี่
ติดต่อขอรับบริการและสอบถามทาง:
อีเมล: krittathat@sac.gallery
โทรศัพท์: 02-258-5580 ต่อ 401, 084-695-6592
Line Official: @sacbangkok