
28 Apr From Hokusai to three (ENG/ไทย)
Eng | ไทย
โคมคลื่นโหมขับเน้นขนาดมโหฬารหลอกสายตาด้วยภูเขาไฟฟูจิที่ คัตสึชิกะ โฮกุไซ (Katsushika Hokusai) วางไว้กลางภาพอยู่ลิบๆ เรือแจวโคลงตามแรงคลื่นชวนให้เวียนหัว ผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ชื่อก้อง The Great Wave (1830 circa) ของโฮกุไซ

Katsushika Hokusai, The Great Wave, 1831 circa (ภาพจาก: wikipedia.org)
ทั่วไปในเอโดะ (ชื่อที่ใช้เรียกกรุงโตเกียวในสมัยนั้น) มีร้านรวงจำหน่ายผลงานภาพพิมพ์และภาพประกอบอยู่ดารดาษ ดังปรากฏในภาพถ่ายที่ยังหลงเหลือเป็นหลักฐานแห่งความมั่งคั่ง โฮกุไซในฐานะนักเล่นผู้หลงใหลและทดลองเทคนิคใหม่ๆ คายตะขาบสองตัวเขื่องให้กับวงการศิลปะในญี่ปุ่น ที่หากมาชมนิทรรศการ three is a magic number 15: Hypersweet ก็อยากจะให้นึกถึงตะขาบตัวแรก เขาคือคนที่หยิบเอาคำว่ามังงะ (manga) มาใช้เป็นคนแรกๆ ที่แม้ความหมายของมังงะของโฮกุไซจะแตกต่างกับมังงะในปัจจุบัน แต่คำนี้นิยามบรรยากาศภาพประกอบของญี่ปุ่นได้อย่างดี ตะขาบตัวที่สอง เขาสร้างแรงกระเพื่อมที่แรงกว่าคลื่นยักษ์ในภาพ หากมองภาพคลื่นยักษ์อีกซักครั้ง จะพบว่าความโดดเด่นคือการส่งต่อความรู้สึกให้แก่ผู้ชม องค์ประกอบต่างๆ ภายในภาพได้หลอมรวมเป็นเทคนิคที่เรียกว่า Freeze-frame (Clark 2019) และถือกำเนิดเป็นอนิเมะ (anime) ในที่สุด
หากแต่ความซับซ้อนของมังงะเริ่มขึ้น ราวๆ ปี ค.ศ. 1200 ปรากฏมีภาพพระบท บันทึกสัตว์ต่างๆ ทำอิริยาบถของมนุษย์ กำกับด้วยคำพูดต่างๆ (bubbles) ความนิยมชมชอบภาพประกอบเหล่านี้ไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงด้วยความชันเพียงเท่านั้น การเสื่อมความนิยมของภาพพิมพ์แกะไม้ถดถอยอย่างรวดเร็ว มันถูกแทนที่ด้วยการ์ตูนช่องจากภาวะถดถอยทางการเมืองและสงคราม แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดร่วมที่คอยสนับสนุนให้ศิลปินในทุกๆ ช่วงสมัย คือกลุ่มผู้ชมที่รักและสนับสนุนผลงานอย่างเหนียวแน่น

Part one of three sections of the Choju-Jinbutsu-Giga emaki (Kou kan), Courtesy of the Suntory Museum of Art (Gleason n.d.).
ไม่ว่าจะเป็นภาพพิมพ์แกะไม้ในยุคของโฮกุไซหรือก่อนหน้าที่แผ่กว้างไปอย่างมาก การ์ตูนช่องแบบรวมเล่มที่ถูกผลิตด้วยต้นทุนราคาประหยัดสอดคล้องกับสภาพสังคมที่บอบช้ำจากสงคราม หรือแม้แต่หุ่นการ์ตูนลิขสิทธิ์ในปัจจุบัน ด้วยราคาที่จับต้องได้ การผลิตซ้ำจำนวนมากทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึง และเป็นเจ้าของผลงานภาพคลื่นยักษ์ที่กลายเป็นตำนานแห่งภาพพิมพ์ในหลายร้อยปีต่อมา การ์ตูนเรื่องยาวหลายๆ เรื่องที่กลายเป็นของสะสมล้ำค่า และหลายเรื่องที่ทิ้งให้คนอ่านรอตอนจบหรือแม้แต่ตอนต่อไปอย่างแห้งเหี่ยว แต่ที่แน่ชัดคือมีตัวละครถูกคิดค้นขึ้นมามากมายและพลังของการผลิตครั้งละจำนวนมากๆ ก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมกระทั่งได้กลายเป็นจิตวิญญาณใหม่ ที่ไม่ต้องพึ่งพาความศักดิ์สิทธิ์ของต้นฉบับอีกต่อไป
ผลงานมังงะในทุกยุคทุกสมัยได้บันทึกเอาเรื่องราวทางสังคมของญี่ปุ่นเอาไว้ ทั้งตัวละคร เรื่องราว บรรยากาศ เทคนิค และเนื้อเรื่องไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวจากศิลปิน หากแต่สะท้อนรสนิยมและพฤติกรรมการบริโภคของผู้เสพย์ที่เป็นคนส่วนมากเอาไว้ ผลงานที่จัดแสดงอยู่ของกลุ่มศิลปิน three นี้เอง ทำงานร่วมกับประวัติศาสตร์ส่วนนี้ของญี่ปุ่นเอาไว้อย่างแนบเนียน พวกเขาไม่เพียงมองและบันทึกจากจุดยืนของผู้เสพย์ที่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภควัฒนธรรมส่วนนี้ของประเทศ ภายใต้รูปร่างรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ของผลงานแต่ละชิ้นที่เกิดจากการหลอมรวม ตัวการ์ตูนจากอนิเมะนับร้อยนับพันเรื่อง ที่ไม่เพียงวิพากษ์อุตสาหกรรมการผลิตซ้ำเพื่อตอบสนองต่อความต้องการจำนวนมหาศาลบนรสนิยมเฉพาะกลุ่ม มาสู่ความสามัญดังที่ภัณฑารักษ์ได้กล่าวถึงนิทรรศการเอาไว้ (Janepraphaphan 2020) แต่การกระทำเชิงความหมายของศิลปินด้วยการบีบอัด เฉือนตัด หลอมรวมวัตถุตัวแทนวัฒนธรรมอนิเมะของญี่ปุ่นที่เป็นวัสดุหลักในผลงาน กลับเป็นการย้อนศรพัฒนาการรากฐานของมังงะและอนิเมะจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันอย่างน่าสนใจ
จากภาพพิมพ์ของโฮกุไซ มาจนถึงภาพพระบทหรือฉากหลังสำหรับการแสดงการ์ตูนช่องเรื่องยาวที่ถูกหยิบเอามาทำเป็นภาพเคลื่อนไหว พัฒนาการทั้งหมดเป็นความพยายามเติมมิติให้กับผลงานสองมิติให้มีความลึก ตื้น เสมือนจริง แต่การกระทำของศิลปินกลุ่ม three ต่อชิ้นส่วนตัวแทนในลักษณะวิพากษ์ย้อนศร กลับเป็นการพยายามบีบอัดมิติในเชิงอรรถรสให้ลีบแบนแต่กลับยิ่งเผยให้เห็นมิติทางสังคมที่ถูกซ่อนอยู่ลึกกว่าที่โผล่พ้นขอบเผยออกมา นับเป็นการหยิบเอาประวัติศาสตร์และบริบทโดยรอบขึ้นมามองอีกครั้ง ผ่านมุมมองคมคายของศิลปินกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวด้วยผลงานศิลปะรูปแบบ Superflat ณ จุดที่เรายืนอยู่ในปัจจุบัน เพื่อถามหาตำแหน่งแห่งหนของเราที่ถูกห้อมล้อมเอาไว้ด้วยผลพวงของประวัติศาสตร์และการพัฒนา
เรื่องโดย: พลอย เจริญผล
ภาพประกอบ: ศรุดา สวนสะอาด
Bibliography
Chol Janepraphaphan. 2020. “three is a magic number 15: Hypersweet.” Bangkok: Subhashok The Arts Centre, 26 March.
Clark, Tim. 2019. blog.britishmuseum.org. May 10. Accessed April 15, 2020. https://blog.britishmuseum.org/hokusai-the-father-of-manga/.
Gleason, Alan. n.d. artscape Japan. Accessed April 22, 2020. http://www.dnp.co.jp/artscape/eng/ht/0712index.html.
Kendzulak, Susan. 2013. Art Radar Journal.Novermber 10. Accessed April 22, 2020. https://artradarjournal.com/2013/10/11/what-is-superflat/.
Ryōko Matsuba, Alfred Haft. 2018. blog.britishmuseum.org. December 5. Accessed April 14, 2020. https://blog.britishmuseum.org/manga-a-brief-history-in-12-works/.