Urushi Forms and Hope - Lacquer Arts in Southeast Asia

by Sumanatsya Voharn
นิทรรศการ Urushi Forms and Hope - Lacquer Arts in Southeast Asia จัดแสดงผลงานเครื่องรักนานาชาติ โดยทีมคณะกรรมการ Asian Lacquer Craft Exchange Research ประเทศญี่ปุ่น ที่มีโครงการความร่วมมือและศึกษารวบรวมผลงานศิลปะเครื่องรักร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง  นิทรรศการในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จัดแสดงผลงานเครื่องรักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผลงานของศิลปินเครื่องรักนานาชาติทั้งจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป ที่มีแรงบันดาลใจจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่มีการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเครื่องรักในสารคดีสั้นที่ได้ถ่ายทำในประเทศไทยและประเทศเวียดนามผ่านมุมมองเทคนิคและวัสดุของเครื่องรักร่วมสมัยและการตั้งคำถามถึงความยั่งยืนของวัฒนธรรมเครื่องรักในอนาคต 

โดยมีผลงานจากกว่า 70 ศิลปินและสตูดิโองานรักร่วมจัดแสดง กว่า 100 ชิ้นงาน มีผลงานของศิลปินไทยที่ร่วมจัดแสดงจำนวน 14 ศิลปิน ได้แก่ เดชา เตียงเกตุ, จักกริช สุขสวัสดิ์, เกียรติศักดิ์ ไชยเมืองชื่น, ลิปิกร มาแก้ว, มานพ วงศ์น้อย และรัฐธีร์ ไพศาลโชติศิริ, ณรงค์เดช ดอกแก้ว, เนติ พิเคราะห์, ภูมิรพี คงฤทธิ์, รัฐ เปลี่ยนสุข, ศิวกร ศิริกาญจนโรจน์, สุมนัสยา โวหาร, เทพี ปู่จันทร์, ทิพวรรณ ทั่งมั่งมี และวิชัยกุลเครื่องเขิน ผลงานที่ร่วมจัดแสดงมีความหลากหลาย ทั้งเครื่องรักจากกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มช่างศิลป์อนุรักษ์ ศิลปินร่วมสมัย นักวิชาการศิลปะ และนักออกแบบ จากการคัดเลือกและประสานงานโดย สุมนัสยา โวหาร ตัวแทนโครงการจากประเทศไทย 
 
ผลงาน Trays โดย สุมนัสยา โวหาร เกิดจากคำถามเชิงการออกแบบเกี่ยวกับการผลิตขันโตกในภาคเหนือของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ผลิตขันโตกในตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวผลิตซ้ำรูปแบบของวัตถุทางวัฒนธรรมโดยแทนที่ด้วยวัสดุคุณภาพต่ำ ใช้สีเคลือบเคมีและงานไม้ทักษะอุตสาหกรรม หัวใจสำคัญของทักษะช่างไม้และงานรักจากวัสดุธรรมชาติได้จางหายไปแล้ว 

Trays แม้จะมีรูปแบบที่แตกต่างจากขันโตกโบราณแต่หัวใจของการออกแบบยังคงสื่อสารถึงหน้าที่สำคัญของขันโตกในรูปแบบร่วมสมัย ไม้สักแผ่นบางหน้าแคบถูกจัดการด้วยเทคนิคงานไม้ที่เรียบง่ายแต่ลงรายละเอียดการออกแบบโครงสร้างที่ประหยัดการใช้วัสดุ เหลือเศษจากการผลิตน้อยที่สุด ใช้เทคนิคการเช็ดรักเพื่อคงสุนทรียะความงามของงานไม้ โดยเลือกการใช้รักไทยที่มีสีเข้มและรักญี่ปุ่นสีน้ำตาลเกรดธรรมชาติขับโครงสร้างงานไม้ แสดงความชัดเจนของแนวคิดทางการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและสังคมในภาษาร่วมสมัย

นิทรรศการ “Urushi Forms and Hope” จัดแสดงระหว่างวันที่ 24 กันยายน - 4 ตุลาคม .. 2565 ณ Chinretsukan Gallery, Tokyo University of the Arts ประเทศญี่ปุ่น

 

 

August 16, 2022